เทคโนโลยี ‘โกลไลน์’ การแก้ปัญหาที่ถูกจุด?

น่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในศึก ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ที่ญี่ปุ่นปีนี้จะมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของวงการฟุตบอลมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของการถกเถียงกันว่า ลูกฟุตบอลข้ามเส้นไปแล้วหรือยัง? ในกรณีที่ดูยากๆ หรือก่ำกึ่ง เช่น ยิงเข้าไปแล้วแต่โดนสกัดออกมา ผู้รักษาประตูปัดออกมา ซึ่งอย่างที่เราเห็นออกข่าวว่าเป็นลูกปัญหาบ่อยๆนั้นละ โดยในส่วนของรายละเอียดตัวเทคโนโลยี โกลไลน์ ที่ว่านี้ ผมพอจับใจความให้ท่านผู้อ่านได้ทราบคร่าวๆดังนี้ คือจะมีการติดกล้องไว้ที่ตาข่ายประตู หรือตาข่ายโกลตามจุดต่างๆหลายจุด

และตัวกล้องที่ติดไว้ก็จะคอยจับภาพลูกฟุตบอลว่าเลยข้ามเส้นประตูไปหรือยัง? ถ้าพบว่าลูกฟุตบอลนั้นข้ามเส้นประตูไปแล้วก็จะมีการแจ้งสัญญาณไปที่เครื่องรับสัญญาณที่จะอยู่กับตัวผู้ตัดสิน ฉะนั้นแน่นอนครับว่า ถ้าเทคโนโลยีนี้สามารถทำงานได้สมบูรณ์แบบเหมือนที่มีการทดสอบ ก็ช่วยลดความผิดพลาดในการตัดสินใจให้ประตู หรือไม่ให้ประตูในหลายๆลูกก่ำกึ่งได้ดีมากๆ แต่ทั้งนี้เราก็ต้องมารอดูกันเมื่อจบทัวร์นาเม้นท์ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกหนนี้ที่ญี่ปุ่น พร้อมกับรอดูกันต่อไปครับว่าจะมีการนำเอาไปใช้ในทัวร์นาเม้นท์ใหญ่อื่นๆ รวมถึงฟุตบอลลีกชั้นนำ และลีกของประเทศต่างๆหรือไม่? กระนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ถึง ณ จุดนี้ ผมก็คิดว่า การที่วงการฟุตบอลมีการพูดคุย ถกเถียงเรื่องปัญหาที่ว่านั้น

จนถึงขนาดมีเทคโนโลยี โกลไลน์เกิดขึ้นมา และเริ่มใช้ในฟุตบอลรายการดังกล่าว ก็ถือเป็นการเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ถูกจุด ตรงจุดแล้วละ เพราะลำพังสายตาของผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสินในสนาม ไม่อาจตัดสินลูกก่ำกึ่งในทุกเกมการแข่งขันฟุตบอลได้อย่างถูกต้องแม่นยำเสมอไปอยู่แล้ว ซึ่งหลายคนเองก็คงคิดเช่นเดียวกันกับผมนี้แหละ โดยเฉพาะกับคนที่เคยนั่งดูเกมที่ผู้ตัดสิน ตัดสินผิดพลาดจนส่งผลเสียแก่ทีมที่ตนรัก ทีมที่ตนเชียร์ ยังผลต่อไปให้ทีมของตนพลาดแชมป์ หรือพลาดเป้าหมายของทีมที่วางไว้เลยทีเดียว

,

Comments are closed.